วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เชียงคาน

                        
 เชียงคาน





ประวัติเชียงคาน จ.เลย  อดีต ... ปัจจุบัน ณ เชียงคาน

       ประวัติเชียงคาน เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเลย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง เคยเป็นราชธานีหรือเมืองหลวงของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือราชอาณาจักรลาวมาก่อน เมืองเชียงคานเก่า หรือเมืองสานะคาม (ชนะสงคราม) ซึ่งเป็นเมืองที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ทางยุทธศาสตร์สมัยราชอาณาจักรล้านช้าง ถูกก่อสร้างโดย ขุนคาม โอรสของขุนคัวแห่งอาณาจักรล้านช้าง เมื่อประมาณปีพ.ศ. 1400 ต่อมาประมาณปีพ.ศ. 2250 ทางเวียงจันทร์ได้ตั้งเมืองเชียงคานเดิม ซึ่งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเป็นเมืองหน้าด่าน

        พ.ศ. 2320 พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับพระสุรสีห์ ยกทัพไปตีกรุงเวียงจันทร์ ตีเวียงจันทร์ได้จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกต กลับมายังกรุงธนบุรี แล้วได้รวมอาณาจักรล้านช้างเข้าด้วยกันและให้เป็นประเทศราชของไทย แล้วได้กวาดต้อนผู้คนมาอยู่เมืองปากเหืองมากขึ้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เมืองปากเหืองขึ้นกับเมืองพิชัย

        ต่อมมาสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้กองทัพไทยยกทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์ที่นครราชสีมา เนื่องจากเจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทร์คิดกอบกู้เอกราชเพื่อแยกเป็นอิสระจากไทย หลังจากปราบได้สำเร็จแล้ว ก็ไปกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาอยู่เมืองปากน้ำเหืองมากขึ้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ไปขึ้นกับเมืองพิชัย

   ครั้นถึงสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกจีนฮ่อได้ยกทัพมาตีเมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงพระบางและได้เข้าปล้นสดมภ์เมืองเชียงคานเดิมที่อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ชาวเชียงคานเดิมจึงอพยพผู้คนไปอยู่เมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) เป็นจำนวนมาก
ครั้นต่อมา เห็นว่าชัยภูมิเมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) ไม่เหมาะสม ผู้คนส่วนใหญ่จึงอพยพไปอยู่ที่บ้านท่านาจันทร์ซึ่งใกล้กับที่ตั้งของอำเภอเชียงคานปัจจุบัน แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า เมืองใหม่เชียงคาน ต่อมาไทยได้เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส ทำให้เมืองปากเหืองตกเป็นของฝรั่งเศส คนไทยที่อยู่เมืองปากเหืองจึงอพยพมาอยู่เมืองใหม่เชียงคาน หรืออำเภอเชียงคานปัจจุบันโดยสิ้นเชิง “แล้วได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นเมืองเชียงคานใหม่” ได้ตั้งที่ทำการอยู่บริเวณวัดธาตุ เรียกว่าศาลาเมืองเชียงคาน ต่อมาได้ย้ายที่อยู่บริเวณวัดโพนชัย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2452 เมืองเชียงคานซึ่งมีพระยาศรีอรรคฮาด (ทองดี ศรีประเสริฐ) ได้รับตำแหน่งนายอำเภอเชียงคานคนแรก ต่อมาปี พ.ศ. 2484 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเชียงคานมาอยู่ ณ ที่อยู่ปัจจุบันตราบเท่าทุกวันนี้ 


ขอบคุณข้อมูล(บางส่วน)จาก : http://www.amphoe.com/


"เชียงคาน เมืองโบราณ ที่ไม่ล้าสมัย"

     เมืองเชียงคาน ในปัจจุบันเป็นเมืองโบราณเก่าแก่ในสายตาของนักท่องเที่ยว เป็นชุมชนที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาได้ยาวนานกว่า 100 ปี ซึ่งเพิ่งจะมีการจัดงานฉลอง "100 ปี เชียงคาน เมืองโบราณ ริมฝั่งโขง" ไปเมื่อวันที่ 4-6 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมานี้เอง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ความเป็นเอกลักษณ์ให้คงอยู่สืบไป

    เมืองเชียงคาน เมืองโบราณ.. บ้านไม้เก่าๆ ร้านกาแฟ มุมหนังสือเล็กๆ เท่านั้น แต่กลับมีนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว เดินเที่ยวกันให้เต็มไปหมด อาจจะด้วยเพราะเมืองเชียงคานนี้เงียบสงบ บรรยากาศดี ด้วยการที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์แต่ผสมผสานกับความเป็นสมัยใหม่ที่ไม่มากจนเกินไปได้อย่างลงตัวในแบบฉบับของเชียงคาน ผู้คนที่เชียงคานก็เป็นมิตร อัธยาศัยดี และการไปเที่ยวที่เชียงคานก็ไม่แพงจนเกินกำลัง ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเชียงคานแห่งนี้ ก็จะเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น หลายๆ สิ่งที่เชียงคานอาจเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม เชียงคานจะไม่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าเราทุกคนยังคงช่วยกันรักษาความเป็นเอกลักษณ์ ดำรงวิถีชีวิตในแบบของเชียงคานสืบไป ความเป็นเชียงคานที่คงความเป็นเอกลักษณ์ได้ยาวนานกว่าร้อยปี ก็จะเป็นเช่นเดิมตลอดไป..

สถานที่ท่องเที่ยวเชียงคาน

วัดศรีคุณเมือง

วัดศรีคุณเมือง

         วัดศรีคุณเมือง ตั้งอยู่ที่ซอย 7 ถนนชายโขง ทางด้านเหนือของตลาดเชียงคาน มีกำแพงแก้วล้อมรอบตัวพระอุโบสถ วัดนี้เป็นแหล่งรวมงานศิลปะทั้งแบบล้านนาและล้านช้างดังจะเห็นได้จากโบสถ์ ซึ่งหลังคาลดหลั่นอย่างศิลปะล้านนา ศิลปวัตุที่สำคัญมีหลายชิ้นเช่นพระพุทธรูปไม้จำหลัก ลงรักปิดทองปางประทานอภัยแบบล้านช้าง พระพุทธรูปดังกล่าวมีพระเกศาเป็นปุ่มแหลมเล็ก พระกรรณค่อนข้างแหลมและยาว สันนิษฐานว่ามีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 24-25 นอกจากนี้ในวัดยังมีธรรมาสน์ไม้แกะสลักลงรักปิดทองทุกด้านที่พนักหลังมียอดคล้ายปราสาท ด้านหน้าโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่เต็มหน้าบัน ภาพทั้งหมดเป็นภาพนิทานชาดกชุดพระเจ้าสิบชาติซึ่งวาดขึ้นใหม่แทนของเดิม

วัดท่าแขก

วัดท่าแขก

       วัดท่าแขก เป็นวัดเก่าแก่โบราณ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ห่างจากอำเภอเชียงคาน 2 กม. ก่อนถึงหมู่บ้านน้อย และแก่งคุดคู้ปัจจุบันเป็นวัดธรรมยุติ ภายในโบสถ์มีพระพุทธรูป 3 องค์ สกัดจากหินแกรนิตทั้งก้อน หน้าตักกว้าง 2 ศอก เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์มาก

แก่งคุดคู้

แก่งคุดคู้

             แก่งคุดคู้ เป็นแก่งหินใหญ่ขวางอยู่กลางลำน้ำโขง ห่างจากตัวอำเภอเชียงคานประมาณ 3 กม. ประกอบด้วย หินก้อนใหญ่ ๆ เป็นจำนวนมากจากการที่หินเหล่านี้อยู่ใต้น้ำเป็นเวลานาน ทำให้หินเหล่านี้มีสีสัน ไปต่าง ๆ ตัวแก่ง กว้างใหญ่เกือบจรดสองฝั่งแม่น้ำโขง มีกระแสน้ำไหลผ่านไปเพียงช่องแคบ ๆ ใกล้ฝั่งไทยเท่านั้นเอง ซึ่งกระแสน้ำเชี่ยวกราก เวลาที่เหมาะจะชมแก่งคุดคู้ที่สุดคือ เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเวลาที่น้ำแห้ง มองเห็นเกาะแก่งชัดเจน บริเวณแก่ง มีร้านอาหารจำหน่าย มากมาย

พระพุทธบาทภูควายเงิน


               พระพุทธบาทภูควายเงิน ตั้งอยู่ที่บ้านอุมุง ตำบลบุฮม ตามเส้นทางสายเชียงคาน-ปากชม ระยะทาง 6 กม. ถึงหมู่บ้านผา แบ่นมีทางแยกเข้าบ้านอุมุง 3 กม. จะถึงทางขึ้นเขาเป็นทางลูกรังระยะทาง 1 กม. เป็นรอยพระพุทธบาทที่ตั้งอยู่บนหินลับพร้า (หินลับมีด) ประชาชนเคารพนับถือมาก จะมีงานเทศกาล ประจำปีในวันเพ็ญเดือน 3 หรือเดือน 4 ของทุกปี

พระใหญ่ภูคกงิ้ว

 

             พระใหญ่ภูคกงิ้ว เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าพระพุทธนวมินทรมงคลลีลาทวินคราภิรักษ์ ตั้งอยู่ที่ภูคกงิ้ว บ้านท่าดีหมี ตำบลปากตม ประดิษฐานอยู่บนเนินเขาบริเวณปากลำน้ำเหืองจรดกับแม่น้ำโขง เป็นพระพุทธรูปปางลีลาประทานพร หล่อด้วยไฟเบอร์ผสมเรซิ่นสีทองทั้งองค์ สูง 19 เมตรตัวฐานกว้าง 7.2 เมตร สร้างขึ้นโดยกองทัพภาคที่ 2 และประชาชนเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ เมื่อ พ.ศ. 2542 และในมหามงคลแห่งราชพิธิราชาภิเษก ครบ 50 ปี พ.ศ. 2543 สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2544 บริเวณโดยรอบสามารถชมทัศนียภาพที่สวยงามของแม่น้ำโขง และประเทศลาวได้
            การเดินทาง จากตัวเมืองเลยทางหลวงหมายเลข 201 (เลย-เชียงคาน) ไป 47 กม. แล้วเลี้ยวซ้ายบริเวณสามแยกตรงไปจนถึงบ้านท่าดีหมี่ แล้วเลี้ยวขวาที่โรงเรียนบ้านท่าดีหมี่ ไปอีกประมาณ 2 กม.


จุดชมวิว ภูทอก




              ภูทอก ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเชียงคาน เป็นเพียงภูเขาลูกเล็กๆ แต่ภูทอกแห่งนี้ก็มีเสน่ห์ที่เป็นจุดชมวิว ชมความงามของแม่น้ำโขง เมืองสานะคาม และแก่งคุดคู้ได้อย่างชัดเจน และเสน่ห์ยิ่งกว่านั้น ภูทอก ในฤดูฝนและฤดูหนาวจะถูกปกคลุมไปด้วยผ้าห่มหมอก หากได้มองจากยอดภูทอกจะเห็นเป็นทะเลหมอกได้แบบรอบทิศเลยทีเดียว
              การเดินทาง สามารถขับรถขึ้นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นรถกระบะ รถเก๋ง เริ่มจากซอยข้างโรงพยาบาลเชียงคาน ตรงไปเรื่อยๆ จนถึงทางสามแยกตีนภูทอก แล้วเลี้ยวซ้ายตามถนนตัดใหม่ จะเป็นทางเข้า
สู
เส้นทางขึ้นยอดภูทอก หากไม่ทราบเส้นทางที่แน่ชัดก็สามารถสอบถามคนเชียงคานได้เลย





การเดินทางเชียงคาน

รถยนต์
     จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1(พหลโยธิน) ผ่านตัวเมืองสระบุรี ตรงเข้าทางหลวงหมายเลข 21 ผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ ตรงเข้าทางหลวงหมายเลข 203 ผ่านอำเภอหล่มสัก หล่มเก่า เข้าเขตจังหวัดเลย ที่อำเภอด่านซ้าย อำเภอภูเรือ ถึงตัวจังหวัดเลยใช้เวลาเดินทางประมาณ 7-8 ชั่วโมง หรือจะใช้เส้นทาง จากสระบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 มิตรภาพ ผ่านจังหวัดนครราชสีมา ถึงจังหวัดขอนแก่น แล้วเลี้ยว ซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 12 ผ่านอำเภอชุมแพ แล้วใช้เส้นทางหมายเลข 201 เข้าเขตจังหวัดเลย ที่อำเภอภูกระดึง อำเภอวังสะพุง ถึงตัวจังหวัดเลยได้เช่นเดียวกัน

รถโดยสารประจำทาง     บริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารประจำทางวิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-เลย ทุกวัน ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ ใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง รายละเอียดสอบถามที่สถานีขนส่งสายอีสาน ถนนกำแพงเพชร 2 (หมอชิต 2) โทร. (02) 936-0667, 936-0657

รถไฟ
     การรถไฟแห่งประเทศไทย มีรถไฟไปจังหวัดอุดรธานีและขอนแก่น ซึ่งสามารถต่อรถยนต์ไปจังหวัดเลยได้อีกต่อหนึ่ง รายละเอียดสอบถาม หน่วยบริการเดินทาง สถานีรถไฟกรุงเทพฯ โทร. 233-7010, 223-7020

เครื่องบิน
     บริษัท การบินไทย จำกัด มีเที่ยวบินกรุงเทพฯ-อุดรธานี ทุกวัน วันละ 3 เที่ยว แล้วสามารถต่อรถยนต์ไปจังหวัดเลย อีกประมาณ 140 กม. รายละเอียดสอบถาม โทร. 280-0060, 628-2000 และที่จังหวัดอุดรธานี โทร. (042) 243222, 246697
หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ (รหัสทางไกล 042) 

ที่ทำการไปรษณีย์ 812022
ที่ว่าการอำเภอเมือง 811213
บริษัท ขนส่งเลย จำกัด 811706
โรงพยาบาลเลย 811541
สำนักงานจังหวัดเลย 811746, 833209
สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเลย 811254
สำนักงานการท่องเที่ยวภูหลวง 841566
สำนักงานเทศบาลเมืองเลย 811140



                                                               โดยนายธนากร   กองกูล 52010211326 BG กลุ่มเรียน 28

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น